วันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันสุนทรภู่ ๒๖ มิถุนายน

ชีวประวัติ
         สุนทรภู่ กวีสำคัญสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๙ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (บริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบัน)บิดาของท่านเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง สันนิษฐานว่ามารดาเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง บิดามารดาเลิกร้างกันตั้งแต่สุนทรภู่เกิด บิดาออกไปบชที่วัดป่า ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง อันเป็นภูมิลำเนาเดิม ส่วนมารดากลับเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง ได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระธิดาในกรมฯ นั้น
         สุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระราชวังหลังและได้อาศัยอยู่กับมารดาสุนทรภู่ได้รับการศึกษาในพระราชวังหลังและที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม)ตั้งแต่เยาว์วัยสุนทรภู่มีนิสัยรักแต่งกลอนยิ่งกว่างานอื่น ครั้งรุ่นหนุ่มก็ไปเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดารามในคลองบางกอกน้อย ได้แต่งกลอนสุภาษิตและกลอนนิทานขึ้นไว้ เมื่ออายุราว ๒๐ ปี
         ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร เป็นกวีที่ปรึกษาและคอยรับใช้ใกล้ชิด ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๓๖๔ สุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะเมาสุราอาละวาดและทำร้ายท่านผู้ใหญ่ แต่ติดอยู่ไมนานก็พ้นโทษเพราะความสามารถในทางกลอนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
         ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ถูกกล่าวหาด้วยเรื่องเสพสุรา และเรื่องอื่นๆ จึงถูกถอดออกจากตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร ต่อมาสุนทรภู่ออกบวชที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดต่างๆ และได้รับการอุปการะจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจนพระองค์ประชวรสิ้นพระชมน์ สุนทรภู่จึงลาสิกขาบท รวมอายุพรรษาที่บวชได้ประมาณ ๑๐ พรรษา สุนทรภู่ออกมาตกระกำลำบากอยู่พักหนึ่งจึงกลับเข้าไปบวชอีกครั้งหนึ่ง แต่อยู่ได้เพียง ๒ พรรษา ก็ลาสิกขาบท และถวายตัวอยู่กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชวังเดิมรวมทั้งได้รับอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอีกด้วย
         ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ครองราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับอยู่วังหน้า (พระบวรราชวัง) สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวังใน ปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และรับราชการต่อมาได้ ๔ ปี ก็ถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี
         องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิดของท่าน ทางราชการจึงได้กำหนดให้มีการจัดงานวันสุนทรภู่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๒๖ มิถุนายนของทุกปีเป็น "วันสุนทรภู่"
ผลงานของสุนทรภู่
หนังสือบทกลอนของสุนทรภู่มีอยู่มาก เท่าที่ปรากฏเรื่องที่ยังมีฉบับอยู่ในปัจจุบันนี้คือ
๑. ประเภทนิราศ : นิราศเมืองแกลง, นิราศพระบาท, นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งเป็นโคลง), นิราศวัดเจ้าฟ้า, นิราศอิเหนา, นิราศพระประธม, นิราศเมืองเพชร
๒. ประเภทนิทาน : เรื่องโคบุตร, เรื่องพระอภัยมณี, เรื่องพระไชยสุริยา, เรื่องลักษณวงศ์,เรื่องสิงหไกรภพ
๓. ประเภทสุภาษิต : สวัสดิรักษา, สุภาษิตสอนหญิง
๔. ประเภทบทละคร : เรื่องอภัยณุรา
๕. ประเภทบทเสภา : เรื่องขุนช้างขุนแผน, เรื่องพระราชพงศาวดาร
๖. ประเภทบทเห่กล่อม : เห่จับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องโคบุตร
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ. (๒๕๓๗). ข้อมูลวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยและแนวทางในการจัดกิจกรรม. กรุงเทพฯ : สำนักงาน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น