วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประโยคความซ้อน

    ประโยคความซ้อน หรือสังกรประโยค เป็นประโยคปรุงแต่ง  (สังกร แปลว่า ปรุงหรือแต่ง)  คือ ประโยคที่ประกอบด้วยประโยคความเดียว  ๒ ประโยคขึ้นไปซ้อนกันอยู่  โดยมีประโยคหนึ่งเป็นประโยคหลัก เรียกว่า มุขยประโยค  และมีประโยคความเดียวอีกประโยคหนึ่งมาขยายประโยคหลัก เรียกว่า อนุประโยค  ทำหน้าที่ปรุงแต่งส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลักเพื่อให้ได้ใจความชัดเจนดียิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้เนื้อความของประโยคสละสลวยยิ่งขึ้นอีกด้วย
ชนิดของประโยคความซ้อน  
แบ่งตามอนุประโยคที่มาขยาย    แบ่งออกเป็น ๓ ชนิด คือ
๑.  นามานุประโยค
๒.  คุณานุประโยค
๓.  วิเศษณานุประโยค                      
๑)  นามานุประโยค  คือ อนุประโยคที่ทำหน้าที่แทนนาม คือ เป็นประธาน บทกรรม และบทวิกัติการก (คำที่ทำหน้าที่ต่างหรือแทนผู้กระทำที่อยู่ข้างหน้า) ขยายนาม เช่น ตัวอย่างนามานุประโยคที่ยกมาต่อไปนี้ จากหลักภาษาไทยของ กำชัย  ทองหล่อ  นามานุประโยคทำหน้าที่เป็น

      บทประธาน       :    ๑.. เขาพูดเช่นนี้ เป็นการส่อนิสัยชั่ว
                                มุขยประโยค   =   เขาส่อนิสัยชั่ว
                                อนุประโยค     =  เขาพูดเช่นนี้

                              ๒. คนเดินริมถนน มองดูตำรวจ
                                มุขยประโยค   =   คนมองดูตำรวจ
                                อนุประโยค     =   คนเดินริมถนน                                  

       บทกรรม      :      ๑. ฉันเห็น เด็กเรียนหนังสือ
                                มุขยประโยค   =   ฉันเห็นเด็ก
                                อนุประโยค     =  เด็กเรียนหนังสือ

                             ๒. เขาพูดว่า ต้นเงาะงอกขึ้นในกระถาง
                                มุขยประโยค   =   เขาพูด
                                อนุประโยค     =  ต้นเงาะงอกขึ้นในกระถาง

                             ๓. เขาทำให้ฉันกลัวผี
                                มุขยประโยค   =   เขาทำฉัน
                                อนุประโยค     =  ฉันกลัวผี                                  


       บทขยาย
      :      ๑. อาหารสำหรับ นักเรียนเล่นละคร มีอยู่ในห้อง
                                 มุขยประโยค   =   อาหารมีอยู่ในห้อง
                                 อนุประโยค     =  นักเรียนเล่นละคร

                              ๒. การเงินของพ่อค้าขายของชำ ฝืดเคืองมาก
                                 มุขยประโยค   =   การเงินของเขาฝืดเคือง
                                 อนุประโยค     =   พ่อค้าขายของชำ

จากตัวอย่างประโยคที่ยกมานี้ ข้อความตัวพิมพ์หนา เป็นนามานุประโยค
ข้อสังเกต   มีข้อที่สังเกตนามานุประโยคตามตัวอย่างข้างบนนี้ให้ถือว่า คำ  ว่า   ให้   สำหรับ   ของ เป็นบทเชื่อมประโยคที่ตามมา   ข้างหลังเป็น นามานุประโยค ถ้าสกรรมกริยา (กริยาที่ต้องการกรรม) ที่อยู่ข้างหน้าคำ ว่า   ให้   นั้นไม่มีกรรมมารับ ถ้ามีกรรมมารับได้ความสมบูรณ์แล้ว ประโยคที่อยู่หลังคำ ว่า หรือ ให้ นั้นต้องเป็น วิเศษณานุประโยค

      ๒)  คุณานุประโยค  คือ  อนุประโยคที่ทำหน้าที่แทนบทวิเศษณ์ เพื่อประกอบนาม สรรพนาม ในมุขยประโยค โดยมีประพันธสรรพนาม ที่ ซึ่ง อัน เป็นบทเชื่อม เช่น
- คนที่ไม่จ่ายทรัพย์ตามสมควร ย่อมเหมือนฝังทรัพย์ทิ้งจมดิน
- แก้วกระจกซึ่งรวมอยู่กับสุวรรณ ย่อมเลื่อมพรายเหมือนมรกต
- บุคคลอันมีจิตสงบแล้ว มีสุขในโลก
ข้อสังเกต    ประโยคที่ตามหลังประพันธสรรพนาม (ที่   ซึ่ง   อัน)  จะเป็นอนุประโยค  แต่ถ้า  ที่   ซึ่ง  อัน  ตามหลังประพันธวิเศษณ์  ประโยคความซ้อนนั้นจะเป็นวิเศษณานุประโยค

      ๓)  วิเศษณานุประโยค  คือ  อนุประโยคซึ่งทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์สำหรับขยายกริยา หรือขยายวิเศษณ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของมุขยประโยค เช่น
- เขามาหา เมื่อฉันไม่อยู่  (ขยายกริยา มา)          
- เขาดีจนฉันเกรงใจ  (ขยายกริยา ดี)
- หมองูตายเพราะงูกัด  (ขยายกริยา ตาย)           
- เขาพูดช้าจนฉันรำคาญ  (ขยายวิเศษณ์ช้า)

ที่มา : http://www.npwebsite.com/nalinee/exam_online/content1.html

ประลองยุทธ 
คำชี้แจง ให้นักเรียนแต่งประโยคความซ้อน ๓ ประโยค
๑.......................................................................................   ๒.......................................................................................
๓.......................................................................................
    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น