วันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ประโยคความเดียว

    การสอนเรื่องประโยคกับนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๕ นั้นมีปัญหามาก เนื่องจากนักเรียนจำไม่ได้ แยกไม่ออกว่าประโยคความเดียว ประโยคความรวม ประโยคความซ้อนเป็นอย่างไร จึงนำเสนอไว้ให้นักเรียนได้อ่านซ้ำ ๆ จะได้จำได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ได้อ่านทบทวนเพื่อเป็นฐานในการเรียนภาษาไทยต่อไป
    ก่อนอื่นต้องทราบว่าประโยคหมายถึงอะไร
    ประโยค หมายถึง ถ้อยคำหลายคำที่นำมาเรียงกันแล้วเกิดใจความสมบูรณ์ ประโยคประกอบด้วย ภาคประธาน และภาคแสดง ประโยคสามารถใช้ติดต่อสื่อสารกันได้ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน แต่การใช้ภาษาพูดในสถานการณ์ต่าง ๆ กัน อาจละเว้นส่วนหนึ่งส่วนใดได้ในฐานะที่เข้าใจกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ลักษณะของประโยคจำแนกตามโครงสร้างได้ดังต่อไปนี้
    ประโยคความเดียว (เอกรรถประโยค)
    ประโยคความเดียว (ตามตำราของพระยาอุปกิตศิลปสาร เรียกว่า เอกรรถประโยค) หมายถึง ประโยคที่กล่าวถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว และสิ่งนั้นแสดงกิริยาอาการ หรืออยู่ในสภาพอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ประโยคประกอบด้วยภาคประธานและภาคแสดง เช่น
             ภาคประธาน                             ภาคแสดง
                   นก                                บินไปหากิน
                  แมว                               ร้องดังเหมียวเหมียว
                  เรือ                                แล่นไปช้า ๆ


    รูปประโยคความเดียว แบ่งได้เป็น ๔ แบบ ดังนี้
    ๑.  ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยผู้กระทำ เช่น
          - แม่ทำกับข้าว
          - ยายป้อนข้าวน้อง
    ๒.  ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยผู้ถูกกระทำ เช่น
          - กระดาษถูกครูตัด
         - ต้นไม้ถูกปลูกหลายต้น
    ๓.  ประโยคที่ขึ้นต้นด้วยกริยา เช่น
         - เกิดเหตุการณ์จลาจลที่ต่างประเทศ
         - มีฝนตกหนักที่สุพรรณบุรี
    ๔.  ประโยคเชิงคำสั่งและขอร้อง เช่น
         - อย่าเดินลัดสนาม (คำสั่ง)
         - กรุณาเดินชิดด้านใน (ขอร้อง)
    นอกจากนี้ยังมีการแบ่งรูปแบบของประโยคความเดียวตามลักษณะของการสื่อสาร ไดเก่
    ประโยคบอกเล่า โดยมากประกอบด้วย ประธาน กริยา กรรม และอาจมีส่วนขยายต่าง ๆ เพื่อให้มีใจความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น
         - ครูกำลังสอนหนังสือนักเรียนชั้นป.๕
         - ฉันเดินไปตลาดนัดคนเดียว
    ประโยคปฏิเสธ โดยมากมักมีคำว่า ไม่ มิใช่ หามิได้ ประกอบตัวแสดง เช่น
         - เขาไม่ได้มาหาฉันนานแล้ว
         - คุณมิได้อ่านคำแนะนำก่อนใช้ยา         
    ประโยคคำสั่งและขอร้อง โดยมากจะละประธานไว้ในฐานะที่เข้าใจ มีเฉพาะแต่แสดง เช่น
         - โปรดฟังทางนี้
         - ยกของขึ้นเดี๋ยวนี้
    ประโยคคำถาม โดยมากจะมีคำถามกำกับอยู่ต้นหรือท้ายประโยค เช่น
         - หนูเป็นลูกของใคร
         - มดชอบกินอะไร
ที่มา :  คู่มือการเรียนการสอนภาษาไทย ระดับประถมศึกษา



 ประลองยุทธ
    คำชี้แจง ให้นักเรียนแต่งประโยคความเดียว ๕ ประโยคจากคำที่กำหนดให้
                                  
      วัคซีน     พยัคฆ์     นภดล     นอต     กะพริบ
   
     ๑.............................................................................................
     ๒.............................................................................................
     ๓.............................................................................................
     ๔............................................................................................
     ๕............................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น