วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การใช้สำนวนโวหาร

             
       วันนี้ขอนำเสนอเรื่อง การใช้สำนวนโวหาร ซึ่งมีขั้นตอนในการเตรียมตัวเขียน นอกจากจะต้องเตรียมข้อมูลจัดทำโครงเรื่องแล้ว ควรเลือกใช้สำนวนโวหารให้เหมาะกับเนื้อความที่ จะเขียน สำนวนโวหารในภาษาไทย แบ่งออกเป็น 5 โวหาร ดังนี้
      1) บรรยายโวหาร
      2) พรรณนาโวหาร
      3) เทศนาโวหาร
      4) สาธกโวหาร
      5) อุปมาโวหาร
         1. บรรยายโวหาร คือ โวหารที่ใช้เล่าเรื่อง หรืออธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ตามลำดับเหตุการณ์ การเขียนบรรยายโวหาร จะมุ่งความชัดเจน เขียน ตรงไปตรงมา รวบรัด กล่าวถึงแต่สาระสำคัญไม่จำเป็นต้องมีพลความ หรือความปลีกย่อยเสริม ในการเขียนทั่ว ๆ ไปมักใช้บรรยายโวหาร เพราะเหมาะในการติดต่อสื่อสารเนื่องจากสำนวนประเภทนี้มุ่งสาระเขียนอย่างสั้น ๆ ได้ความชัดเจนงานเขียนที่ควรใช้บรรยายโวหาร ได้แก่ การเขียนอธิบายประเภทต่าง ๆเช่น เขียนรายงานวิทยานิพนธ์ ตำรา บทความ การเขียนเพื่อเล่าเรื่อง เช่น บันทึก จดหมายเหตุ การเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นประเภทบทความเชิงวิจารณ์ ข่าว เป็นต้น
        หลักการเขียนบรรยายโวหาร
     1) เรื่องที่เขียนต้องเป็นเรื่องจริง ผู้เขียนควรมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนเป็นอย่างดี โดยอาจรู้มาจากประสบการณ์ หรือการค้นคว้าก็ได้
     2) เลือกเขียนเฉพาะสาระสำคัญ ไม่เน้นรายละเอียด แต่เขียนตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม
     3) ใช้ภาษาให้เข้าใจง่าย หากต้องการจะกล่าวให้ชัดอาจใช้อุปมาโวหารและสาธกโวหารเข้าช่วยได้บ้าง แต่ต้องไม่มากจนส่วน ที่เป็นสาระสำคัญกลายเป็นส่วนด้อยไป
     4) เรียบเรียงความคิดให้ต่อเนื่อง และสัมพันธ์กัน
         2. พรรณนาโวหาร มีจุดมุ่งหมายในการเขียนต่างจากบรรยายโวหาร คือมุ่งให้ความแจ่มแจ้ง ละเอียดลออ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ซาบซึ้งเพลิดเพลินไปกับข้อความนั้นการเขียนพรรณาโวหารจึงยาวกว่าบรรยายโวหารมาก แต่มิใช่การเขียนอย่างเยิ่นเย้อ เพราะพรรณนา-โวหารต้องมุ่งให้ภาพ และอารมณ์ ดังนั้น จึงมักใช้การเล่นคำ เล่นเสียง ใช้ภาพพจน์ แม้เนื้อความที่เขียนจะน้อยแต่เต็มด้วยสำนวนโวหารที่ไพเราะ อ่านได้รสชาติ
          หลักการเขียนพรรณนาโวหาร
        1) ต้องใช้คำดี หมายถึง การเลือกสรรถ้อยคำ เพื่อให้สื่อความหมาย สื่อภาพ สื่ออารมณ์เหมาะสมกับเนื้อเรื่องที่ต้องการบรรยาย ควรเลือกคำ ที่ให้ความหมายชัดเจน ทั้งอาจต้องเลือกให้เสียงคำสัมผัสกันเพื่อเกิดเสียงเสนาะอย่างสัมผัสสระ สัมผัสอักษร ในงานร้อยกรอง
       2) ต้องมีใจความดี แม้จะพรรณนายืดยาว แต่ใจความต้องมุ่งให้เกิดภาพ และอารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังพรรณนา
       3) อาจต้องใช้อุปมาโวหาร คือ การเปรียบเทียบเพื่อให้ได้ภาพชัดเจน และมักใช้ศิลปะการใช้คำที่เรียกว่า ภาพพจน์ประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้เป็นวิธีการที่จะทำให้พรรณนาโวหารเด่น ทั้งการใช้คำ และการใช้ภาพที่แจ่มแจ้ง อ่านแล้วเกิดจินตนาการและความรู้สึกคล้อยตาม
     4) ในบางกรณีอาจต้องใช้สาธกโวหารประกอบด้วย คือ การยกตัวอย่างเพื่อให้เกิดความแจ่มแจ้ง โดยยกตัวอย่างสิ่งที่ละม้ายคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดภาพและอารมณ์เด่นชัดพรรณนาโวหารมักใช้กับการชมความงามอื่น ๆ เช่น ชมสถานที่ สรรเสริญบุคคล หรือใช้พรรณนาอารมณ์ ความรู้สึก เช่น รัก เกลียด โกธร แค้น เศร้าสลด เป็นต้น
         3. เทศนาโวหาร หมายถึง โวหารที่มีจุดหมายแสดงความแจ่มแจ้งเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตามหรืออาจกล่าวได้ว่ามุ่งชักจูงให้ผู้อ่าน คิดเห็นหรือคล้อยตามความคิดเห็นของผู้เขียนเทศนาโวหาร จึงยากกว่าโวหารที่กล่าวมาแล้วทั้ง 2 โวหาร เพราะต้องใช้กลวิธีในการชักจูงใจ
         หลักการเขียนเทศนาโวหาร
       การเขียนเทศนาโวหารต้องใช้โวหารประเภทต่าง ๆ มาประกอบ กล่าวคือทั้งใช้บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร รวมทั้งอุปมาโวหาร และ สาธกโวหารด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ใจความชัดเจนแจ่มแจ้ง มีทั้งความหลักและความรองเป็นที่เข้าใจจนเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตามผู้เขียน ไปได้หากเป็นการแสดงความคิดเห็นควรอธิบายทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และโทษ หรือแสดงเหตุและผลการเขียนเทศนาโวหาร ผู้เขียนต้อง มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนเป็นอย่างดี สามารถอธิบายอย่างชัดเจน ทั้งควรพรรณนาให้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักใช้เหตุผล และหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นที่ตนเสนอด้วย การลำดับความให้สัมพันธ์กันอย่างมีเหตุผลจึงเป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ในการเขียนเทศนาโวหารโดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่า เทศนาโวหาร แปลว่า โวหารที่มุ่งสั่งสอน โดยตีความคำว่าเทศนา ว่าสั่งสอน ความจริงเทศนาในที่นี้ หมายถึง แสดง กล่าวคือ แสดงอย่างแจ่มแจ้งเพื่อให้เห็นคล้อยตาม รูปแบบงานเขียนที่ควรใช้เทศนาโวหารคือ งานเขียนประเภทบทความชักจูงใจ หรือบทความแสดงความคิดเห็น ความเรียง เป็นต้น
         4.สาธกโวหาร คือ โวหารที่มุ่งให้ความชัดเจน โดยการยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้แจ่มแจ้งหรือสนับสนุนความคิดเห็นที่เสนอให้หนักแน่น น่าเชื่อถือ สาธกโวหารเป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหารเช่นการเลือกยกตัวอย่างมีหลักที่ควรเลือกให้เข้ากับเนื้อความ อาจยกตัวอย่างสั้น ๆ ในบรรยายโวหารหรืออาจยกตัวอย่างที่มีรายละเอียดประกอบในพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เป็นต้น ในการเขียนข้อเขียนต่าง ๆ นิสิตควรรู้จักเลือกใช้โวหารให้เหมาะกับจุดมุ่งหมายในการเขียนและเนื้อหาในบางโอกาส อาจต้องใช้โวหารหลายชนิดในงานเขียนชิ้นหนึ่งก็ได้ หลักสำคัญอยู่ที่ว่าต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับโอกาส จุดมุ่งหมายและเขียนได้อย่างถูกต้อง ตามลักษณะโวหารนั้น ๆ
         5.อุปมาโวหาร หมายถึง โวหารเปรียบเทียบ โดยกตัวอย่าง สิ่งที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเพื่อให้เกิดความชัดเจนด้านความหมาย ด้านภาพ และเกิดอารมณ์ ความรู้สึกมากยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าอุปมาโวหาร คือ ภาพพจน์ประเภทอุปมานั่นเอง อุปมาโวหารใช้เป็นโวหารเสริม บรรยายโวหาร พรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร เพื่อให้ชัดเจนน่าอ่าน โดยอาจเปรียบเทียบอย่างสั้น ๆ หรือเปรียบเทียบอย่างละเอียดก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปมา โวหารนั้นจะนำไปเสริมโวหารประเภทใด

วิธีสอนแบบทำงานรับผิดชอบร่วมกัน (Co – operative Leanning)

วันนี้ขอนำเสนอวิธีสอนแบบ Co – operative Leanning ซึ่งได้ใช้สอนและนักเรียนก็สนใจดี
วิธีสอนแบบทำงานรับผิดชอบร่วมกัน (Co – operative Leanning)มีความหมาย เป็นการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่ผู้เรียนทำงานร่วมกันและช่วยเหลือ กันในชั้นเรียน ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน และยังเพิ่มปฏิสัมพันธ์ที่ยอมรับซึ่งกันและกัน สร้างความภาคภูมิใจให้ผู้เรียนทุกคน นอกจากนี้ยังเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอีกด้วย เพราะใน ชั้นเรียนมีความร่วมมือ ผู้เรียนจะได้ฟัง เขียน อ่าน ทวนความ อธิบาย และปฏิสัมพันธ์ ผู้เรียน จะเรียนด้วยการลงมือกระทำ ผู้เรียนที่มีจุดบกพร่องจะได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่ม

             
ความมุ่งหมายของการสอน ความมุ่งหมายของการเรียนแบบทำงาน รับผิดชอบ ร่วมกัน คือ การให้สมาชิกทุกคนใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการทำงานกลุ่ม โดยยังคงรักษา สัมพันธภาพที่ดีต่อสมาชิกกลุ่ม ในการเรียนเป็นกลุ่มแบบเดิมนั้น จุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำงานให้ สำเร็จเท่านั้น
ขั้นตอนการสอนมี 5 ชั้น ดังนี้

             1.
แนะนำ ด้วยการบอกว่าชั้นเรียนแบ่งเป็นกี่กลุ่ม กลุ่มละกี่คน สมาชิกแต่ละคน ต้องรับผิดชอบที่จะเรียนเกี่ยวกับหัวข้อที่กลุ่มได้รับให้ได้มากที่สุด แต่ละกลุ่มเป็นผู้เชี่ยวชาญใน หัวข้อนั้น มีหน้าที่จะสอนกลุ่มอื่น ๆ ดัวย ทุกคนจะได้รับเกรดรายบุคคล และเป็นกลุ่ม
             2.
แบ่งกลุ่มให้คละกัน แล้วให้กลุ่มตั้งชื่อกลุ่ม เขียนชื่อกลุ่ม และสมาชิกบนป้าย นิเทศ ผู้สอนแจ้งกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติระหว่างการประชุมกลุ่ม
             
ก. ห้ามคนใดออกจากกลุ่มก่อนที่จะเสร็จงานกลุ่ม
             
ข. แต่ละคนในกลุ่มต้องรับผิดชอบที่จะให้สมาชิกทุกคนเข้าใจและทำงานให้ เสร็จสมบูรณ์
             
ค. ถ้าผู้เรียนคนใดไม่เข้าใจเรื่องใด ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่ม ก่อนที่จะถามผู้สอน
             3.
สร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้สอนแจกเอกสารหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งภายในบรรจุด้วย เนื้อหา ถ้ามีกลุ่ม 6 กลุ่ม ผู้สอนต้องเตรียมเอกสาร 6 ชุด ผู้เรียนที่ได้รับหัวข้อเดียวกันจะศึกษา เรื่องนั้นด้วยกัน เมื่อทุกคนเข้าใจดีแล้ว ก็เตรียมตัววางแผนกการสอนเพื่อกลับไปสอนสมาชิกใน กลุ่มเดิมของตน
             4.
ผู้เชี่ยวชาญสอนเพื่อนในกลุ่ม ทุกคนจะผลัดกันสอนเรื่องที่ไปศึกษามา ตรวจสอบความเข้าใจ และช่วยเพื่อนสมาชิกในการเรียน
             5.
ประเมินผลและให้คะแนนแต่ละคน ผู้สอนทำการทดสอบเพื่อดูว่าต้องสอน เพิ่มเติมหรือไม่ให้เกรด และคิดคะแนนกลุ่ม
ที่มา: http://boogif222.blogspot.com/

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การบริหารจิต

วิธีการบริหารจิต
               
กล่าวเฉพาะการตั้งสติกำหนดพิจารณากายในอิริยาบถนั่ง โดยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ที่เรียกว่า อานาปานสติ

ขั้นเตรียม
                   
1.เลือกสถานที่ที่เหมาะสม เช่น สถานที่ปลอดโปร่งไม่มีเสียงรบกวน
                    2.เลือกเวลาที่เหมาะสม เช่น ตอนเช้า ก่อนนอน เวลาที่ใช้ไม่ควรนานเกินไป
                    3.สมาทานศีล เป็นการแสดงเจตนาเพื่อทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด
                    4.นมัสการพระรัตนตรัยและสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย
                    5.ตัดความกังวลต่างๆ ออกไป

ขั้นตอนปฏิบัติ
                   
1.นั่งท่าสมาธิ คือ นั่งขัดตะหมาด เท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งตัวตรง ดำรงสติมั่น
                    2.หลับตาหรือลืมตาก็ได้ อย่างไหนได้ผลดีก็ปฏิบัติอย่างนั้น
                    3.กำหนดรู้ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจกระทบตรงไหนก็รู้ชัดเจนให้กำหนดตรงจุดนั้น
                    4.เมื่อลมหายใจ-ออก จะกำหนดภาวนาด้วยหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่บุคคลที่ปฏิบัติ
                    5.ปฏิบัติไปเรื่อยๆ จนได้เวลาพอควรแก่ร่างกาย จึงออกจากการปฏิบัติ
                    6.แผ่เมตตาให้ตนเองและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
                การปฏิบัติระยะแรกๆ จิตอาจฟุ้งซ่าน สงบได้ยาก หรือไม่นาน ต้องใช้ความเพียรพยายาม หมั่นฝึกปฏิบัติบ่อยๆ จิตจึงจะค่อยสงบตามลำดับ ผลที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ จิตใจสงบ เยือกเย็น แจ่มใส เบิกบาน มั่งคง เข้มแข็ง  มีพลัง มีความจำดีขึ้น และที่สำคัญ คือ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นตามมาด้วย


ที่มา: http://www.bp-smakom.org/BP_School/Social/BUDDA/Ba-ri-Jit.htm

บทดอกสร้อย

บทดอกสร้อย
        บทดอกสร้อย หรือกลอนดอกสร้อยเป็นกลอนสมัยใหม่ แต่งขึ้นเพื่อใช้ขับร้องเช่นเดียวกับกลอนสักวา ต่อมานิยมแต่งเพื่อใช้เป็นบทกลอนสอนใจสำหรับเด็ก ๆ เพื่อให้จดจำได้ง่าย  และบางครั้งอาจแต่งเพื่อใช้ในเรื่องอื่น ๆ
        กลอนดอกสร้อย 1 บท มี 4 บาท(8 วรรค) ในวรรคแรกบังคับให้คำที่ 2 ใช้คำว่า เอ๋ย”  ส่วนคำที่ 1 ให้ซ้ำกับคำที่ 3 เช่น แมวเอ๋ยแมวเหมียว  ดอกเอ๋ยดอกไม้  ในเรื่องคำสัมผัสกำหนดให้มีสัมผัสบังคับเช่นเดียวกับกลอนสุภาพ และจบบทด้วยคำว่าเอยในคำสุดท้ายของวรรคที่แปด

ข้อเตือนใจจากบทดอกสร้อย
           
ใช้เป็นบทอาขยานสำหรับชั้นประถม สอนให้รู้จักพฤติกรรมตามธรรมชาติของสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งคนและสัตว์ แล้วนำมาสู่คติสอนใจ พฤติกรรมตามธรรมชาติเหล่านั้น และเมื่อแต่งเรื่องออกมาในรูปของกวีนิพนธ์ทำให้ได้ทั้งอรรถรสทางภาษา ทั้งด้านคำและความหมาย ทำให้เรียนรู้ได้ง่าย จดจำไว้ได้นานตลอดไปโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก นอกจากนั้นยังนำมาใช้เป็นบทขับร้องในวิชาขับร้องอีกด้วย บทดอกสร้อยที่ได้เลือกสรรค์ และประมวลมาเป็นบทเรียนมีอยู่ดังนี้
เด็กน้อย
   เด็กเอ๋ยเด็กน้อย
ความรู้เรายังด้อยเร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่เราจะได้มีวิชา
เป็นเครื่องหาเลี้ยงชีพสำหรับตน
ได้ประโยชน์หลายสถานเพราะการเรียน     
จงพากเพียรไปเถิดจะเกิดผล
ถึงลำบากตรากตรำก็จำทน
เกิดเป็นคนควรหมั่นขยันเอย ฯ

ร้องลำฝรั่งรำเท้า
แมวเหมียว
   แมวเอ๋ยแมวเหมียว
รูปร่างประเปรียวเป็นนักหนา
ร้องเรียกเหมียวเหมียวเดี๋ยวก็มา     
เคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดู
รู้จักเอารักเข้าต่อตั้ง
ค่ำค่ำซ้ำนั่งระวังหนู
ควรนับว่ามันกตัญญู
พอดูอย่างไว้ใส่ใจเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องรำแขกบริเทศ
ตั้งไข่
   ตั้งเอ๋ยตั้งไข่
จะตั้งใยไข่กลมก็ล้มสิ้น
ถึงว่าไข่ล้มจะต้มกิน
ถ้าตกดินเสียก็อดหมดฝีมือ
ตั้งใจเรานี้จะดีกว่า
อุตส่าห์อ่านเขียนเรียนหนังสือ
ทั้งวิชาสารพัดเพียรหัดปรือ     
อย่าดึงดื้อตั้งไข่ร่ำไรเอย ฯ

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์
ร้องรำลมพัดชายเขา
ซักส้าว
   ซักเอ๋ยซักส้าว
ผลมะนาวทิ้งทานในงานศพ
เข้าแย่งชิงเหมือนสิ่งไม่เคยพบ
ไม่น่าคบเลยหนอพวกขอทาน
ดูประหนึ่งขัดสนจนปัญญา
มีทางหากินได้หลายสถาน
ประหลาดใจเหตุไฉนไม่ทำงาน     
ประกอบการอาชีพที่ดีเอย ฯ

ร้องรำสารถีชักรถ
ตุ๊ดตู่
   ตุ๊ดเอ๋ยตุ๊ดตู่
ในเรี่ยวในรูช่างอยู่ได้
ขี้เกียจนักหนาระอาใจ
มาเรียกให้กินหมากไม่อยากคบ
ชาติขี้เกียจเบียดเบียนแต่เพื่อบ้าน     
การงานแต่สักนิดก็คิดหลบ
ตื่นเช้าเราควรหมั่นประชันพลบ
ไม่ขอคบขี้เกียจเกลียดนักเอย ฯ

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ ร้องลำวิลันตาโอด
นกกิ้งโครง
   นกเอ๋ยนกกิ้งโครง
หลงเข้าโพรงนกเอี้ยงเถียงเจ้าของ
อ้อยอี๋เอียงอ้อยอี๋เอียงส่งเสียร้อง     
เจ้าของเขาว่าหน้าไม่อาย
แต่นกยังรู้ผิดรั
นักปราชญ์รู้พลั้งไม่แม่นหมาย
แต่ผิดรับผิดพอผ่อนร้าย
ภายหลังจงระวังอย่าพลั้งเอย ฯ

พระยาพินิจสารา (ทิม) แต่ง ร้องลำนกกระจอกทอง
เรือเล่น
   เรือเอ๋ยเรือเล่น
สามเส้นเศษวาไม่น่าล่ม
ฝีพายลงเต็มลำจ้ำตะบม
ไปขวางน้ำคล่ำจมลงกลางวน
ทำขวาง ๆ รีรีไม่ดีหนอ
เที่ยวขัดคอขัดใจไม่เป็นผล
จะก่อเรื่องเคืองข้องหมองกมล     
เกิดร้อนรนร้าวฉานรำคาญเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำตวงพระธาตุ
นกเอี้ยง
   นกเอ๋ยนกเอี้ยง
คนเข้าใจว่าเจ้าเลี้ยงซึ่งควายเฒ่า
แต่นกเอี้ยงนั้นเลี่ยงทำงานเบา
แม้อาหารก็ไปเอาบนหลังควาย
เปรียบเหมือนคนทำตนเป็นกาฝาก     
รู้มากเอาเปรียบคนทั้งหลาย
หนีงานหนักคอยสมัครงานสบาย
จึงน่าอายเพราะเอาเยี่ยงนกเอี้ยงเอย ฯ

ร้องลำแขกไซ
ไก่แจ้
   ไก่เอ๋ยไก่แจ้
ถึงยามขันขันแซ่กระชั้นเสียง
โก่งคอเรื่อยร้องซ้องสำเนียง     
ฟังเพียงบรรเลงวังเวงดัง
ถ้าตัวเราเหล่านี้หมั่นนึก
ถึงคุณครูผู้ฝึกสอนสั่ง
ไม่มากนักสักวันละสองครั้ง
คงตั้งแต่สุขทุกวันเอย ฯ

หม่อมเจ้าประภากร ทรงแต่ง ร้องลำนางนาค
จ้ำจี้
   จ้ำเอ๋ยจ้ำจี้
เพ้อเจ้อเต็มทีไม่มีผล
ดอกเข็มดอกมะเขือเจือระคน
สับสนเรื่องราวยาวสุดใจ
เขาจ้ำแจวจ้ำพายเที่ยวขายของ     
เร่ร้องตามลำแม่น้ำไหล
ชอบรีบแจวรีบจ้ำหากำไร
จ้ำทำไมจ้ำจี้ไม่ดีเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำลิ้นลากระทุ่ม
กาดำ
   กาเอ๋ยกาดำ
รู้จำรู้จักรักเพื่อน
ได้เหยื่อเผื่อแผ่ไม่แชเชือน
รีบเตือนพวกพ้องร้องเรียกมา
ต่างกลุ้มรุมล้อมพร้อมพรัก
น่ารักน้ำใจกระไรหนา
การเผื่อแผ่แน่ะพ่อหนูจงดูกา     
มันโอบอารีรักดีนักเอย ฯ

นายแก้ว แต่ง ร้องลำขิมเล็ก
แมงมุม
   แมงเอ๋ยแมงมุม
ขยุ้มหลังคาที่อาศัย
สั่งสอนลูกรักให้ชักใย
ลูกไกลไม่ทำต้องจำตี
ได้ความเจ็บแค้นแสนสาหัส     
เพราะขืนขัดถ้อยคำแล้วซ้ำหนี
เด็กเอ๋ยเจ้าอย่าเป็นดังเช่นนี้
สิ่งไม่ดีครูว่าอย่าทำเอย ฯ

หลวงประชุมบรรณสาร (พิณ) แต่ง ร้องลำบทร้องไห้
กะเกย
   กะเอ๋ยกะเกย
อย่าละเลยกุ้งไม้ไว้จนเหม็น
มากินข้าวเถิดนะเจ้าข้าวจะเย็น     
ไปมัวเล่นอยู่ทำไมใช่เวลา
ถ้าถึงยามกินนอนผ่อนผัดนัก
ก็ขี้มักเจ็บไข้ไม่แกล้งว่า
จะท้องขึ้นท้องพองร้องระอา
ต้องกินยาน้ำสมอขื่นคอเอย ฯ

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์
ร้องลำตะนาว
มดแดง
   มดเอ๋ยมดแดง
เล็กเล็กเรี่ยวแรงแข็งขยัน
ใครกล้ำกลายมาทำร้ายถึงรังมัน     
ก็วิ่งพรูกรูกันมาทันที
สู้ได้หรือมิได้ใจสาหัส
ปากกัดก้นต่อยไม่ถอยหนี
ถ้ารังเราใครกล้ามาราวี
ต้องต่อตีทรหดเหมือนมดเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง รำลำพัดชา
ตุ๊กแก
   ตุ๊กเอ๋ยตุ๊กแก
ตับแก่แซ่ร้องกึกก้องบ้าน
เหมือนเตือนให้งูรู้อาการ
น่ารำคาญเสียแท้ ๆ แส่จริงจริง
อันความลับเหมือนกับตับที่ลับแน่     
อย่าตีแผ่ให้กระจายทั้งชายหญิง
ที่ควรปิดปิดไว้อย่าไหวติง
ที่ควรนิ่งนิ่งไว้ในใจเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำสะสม
กระต่าย
   กระเอ๋ยกระต่าย
มุ่งหมายเสาะหาแต่อาหาร
เผลอนิดติดแร้วดักดาน
ลนลานเชือกรัดมัดต้นคอ
จะทำการสิ่งไรให้พินิจ
อย่าคิดแต่ละโมภโลภลาภหนอ
เห็นแต่ได้ไขว่คว้าไม่รารอ     
จะยื่นคอเข้าแร้วยายแก้วเอย ฯ

พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศน์นิภาธร
 ทรงนิพนธ์ ร้องลำตะลุ่มโปง
โพงพาง
   โพงเอ๋ยโพงพาง
ทอดขวางตามลำแม่น้ำไหล
มัจฉาตาบอดลอดเข้าไป
ติดอยู่ในข่ายขึงตรึงตรา
ตาบอดอยู่ประสาตัวตาบอด
อย่าทำสอดตาเห็นเช่นว่า
ควรเสงี่ยมเจียมพักตร์รักกายา     
อวดฉลาดพลาดท่าพาจนเอย
เจ้าการะเกด
   เจ้าเอ๋ยเจ้าการะเกด
ขี่ม้าเทศถือกฤชจิตเจ้ากล้า
คอยระวังไพรีจะมีมา
การรักษาหน้าที่ดีสุดใจ
อันถิ่นฐานบ้านช่องต้องรักษา
หมั่นตรวจตราเย็นเช้าเอาใจใส่
อย่าเลินเล่อเผลอพลั้งระวังภัย     
ถ้าหากใครมัวประมาทมักพลาดเอย ฯ

นายทัต เปรียญ แต่ง ร้องลำม้าย่อง
โมเย
   โมเอ๋ยโมเย
ไปทะเลเมาคลื่นฝืนไม่ไหว
ให้อ่อนจิตอาเจียนวิงเวียนไป     
พักอาศัยจอดนอนก็ผ่อนคลาย
อันเมาเหล้าเมายามักพาผิด
และพาติดตนอยู่ไม่รู้หาย
จะเลื่องลือชื่อชั่วจนตัวตาย
อย่าเมามายป่นปี้ไม่ดีเอย ฯ

นายแก้ว แต่ง ร้องลำจีนดาวดวงเดียว
เท้งเต้ง
   เท้งเอ๋ยเท้งเต้ง
คว้างเคว้งอยู่ในลำแม่น้ำไหล
ไม่มีเจ้าของปกครองไป
ต้องลอยตามน้ำไปโคลงเคลง
เหมือนใครลอยโลเลไม่ยุดหลัก     
คนขี้มักกลุ่มรุมกันคุมเหง
ต่อความดีป้องตนคนจึงเกรง
อย่าเท้งเต้งมดตะนอยจะต่อยเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำล่องเรือ
นกเขา
   นกเอ๋ยนกเขา 
ขันแต่เช้าหลายหนไปจนเที่ยง
สามเส้ากุกแกมแซมสำเนียง
เสนาะเสียงเพียงจะรีบงีบระงับ
อันมารดารักษาบุตรสุดถนอม
สู้ขับกล่อมไกวเปลเห่ให้หลับ
พระคุณท่านซาบซึมอย่าลืมลับ     
หมั่นคำนับค่ำเช้านะเจ้าเอย ฯ

พระยาพินิจสารา (ทิม) แต่ง ร้องลำเทพชาตรี
จันทร์เจ้า
   จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า
ใครขอข้าวขอแกงท้องแห้งหนอ
ร้องจนเสียงแห้งแหบถึงแสบคอ
จันทร์จะขอให้เราก็เปล่าดาย
ยืมจมูกท่านหายใจเห็นไม่คล่อง
จงหาช่องเลี้ยงตนเร่งขวนขวาย
แม้นเป็นคนเกียจคร้านพานกรีดกราย     
ไปมัวหมายจันทร์เจ้าอดข้าวเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำพราหมณ์ดีดน้ำเต้า
ช้างพลาย
   ช้างเอ๋ยช้างพลาย
ร่างกายกำยำล่ำสัน
กินไผ่ใบดกตกมัน
ดุดันโดยหมายว่ากายโต
มนุษย์น้อยนักหนายังสามารถ     
เอาเชือกบาศคล้องติดด้วยฤทธิ์โง่
อย่าถือดีดังช้างทำวางโต
จะยืนโซติดปลอกไม่ออกเอย ฯ

นายแก้ว แต่ง ร้องลำชมดงนอกสามชั้น
จุ๊บแจง
   จุ๊บเอ๋ยจุ๊บแจง
เจ้ามีแรงควักข้าวเปียกให้ยายหรือ
เห็นจะเป็นแต่เขาเล่าลือ
จะยึดถือเอาเป็นจริงยังกริ่งใจ
ความเลื่องลือต่อต่อก่อให้วุ่น     
อย่าเพ่อฉุนเชื่อนักมักเหลวไหล
ควรฟังหูไว้หูดูดูไป
พกหินไว้มีคุณกว่านุ่นเอย ฯ

หลวงประสิทธิ์อักษรสาร (เทศ) แต่ง ร้องลำลองเรือ พระนคร
ดุเหว่า
   ดุเอ่ยดุเหว่า
ฝีปากเจ้าเหลือเอกวิเวกหวาน
ผู้ใดฟังวังเวงบรรเลงลาญ
น่าสงสารน้ำเสียงเจ้าเกลี้ยงกลม
เป็นมนุษย์สุดดีก็ที่ปาก
ถึงจนยากพูดจริงทุกสิ่งสม
ไม่หลอนหลอกปลอกปลิ้นด้วยลิ้นลม     
คนคงชมว่าเพราะเสนาะเอย ฯ

นายแก้ว แต่ง ร้องลำเขมรใหญ่
นกกระจาบ
   นกเอ๋ยนกกระจาบ
เห็นใบพงลงคาบค่อยเพียรขน
มาสอดสอยด้วยจงอยปากของตน     
ราวกับคนช่างพินิจคิดทำรัง
ช่างละเอียดเสียดสลับออกซับซ้อน
อยู่พักร้อนนอนร่มได้สมหวัง
แม้นทำการหมั่นพินิจคิดระวัง
ให้ได้ดังนกกระจาบไม่หยาบเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำตะลุ่มโปง
หนูหริ่ง
   หนูเอ๋ยหนูหริ่ง
ไววิ่งซ่อนซุกกุกกัก
ค้อนทับกับแจ้แย่ตารัก
เพราะชั่วนักไม่น่าจะปราณี
จะกินได้หรือมิได้ก็ไม่ว่า
ชั้นผ่อนผ้ากัดค้นจนป่นปี้
ทำสิ่งใดใช่ประโยชน์แม้นโทษมี     
เป็นไม่ดีอย่าทำจงจำเอย ฯ

นายแก้ว แต่ง ร้องลำจีนขวัญอ่อน
โอละเห่
   โอเอ๋ยโอละเห่
คิดถ่ายเทตื่นนอนแต่ก่อนไก่
ทำขนมแชงม้าหากำไร
เกิดขัดใจกันในครัวทั้งผัวเมีย
ผัวตีเมียเมียด่าท้าขรม
ลืมขนมทิ้งไว้ไม่คนเขี่ย
ก้นหม้อเกรียมไหม้ไฟลวกเลีย     
ขนมเสียเพราะวิวาทขาดทุนเอย ฯ

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์
 ร้องลำจีนต่อยหม้อ
ลิงลม
   ลิงเอยลิงลม
ไฉนอมข้าวพองตรองไม่เห็น
ลิงก็มีฟันเขี้ยวเคี้ยวก็เป็น     
มาอมนิ่งเล่นเล่นไม่เห็นควร
แม้ทำการสิ่งใดไม่ตลอด
มาท้อทอดกลางคันคิดหันหวน
ทำโอ้โอ้เอ้เอ้ลงเรรวน
คนจะสรวลบัดสีไม่ดีเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำสมิงทองมอญ
อิ่มก่อน
   อิ่มเอ๋ยอิ่มก่อน
รีบจะไปดูละครโขนหนัง
ทิ้งสำรับคับค้อนไว้รุงรัง
เหมาคนอิ่มทีหลังให้ล้างชาม
การเฝ้าเอาเปรียบกันอย่างนี้
มิดีหนอเจ้าฟังเราห้าม
คบเพื่อนฝูงจงอุตส่าห์พยายาม     
รักษาความสามัคคีจะดีเอย ฯ

สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์
ร้องลำสระบุหร่งนอก
ซุ่มมรดี
   ซุ่มเอ๋ยซุมมรดี
จะเสียทีก็เพราะเพลินจนเลินเล่อ
ระวังตนอย่าเป็นคนเผลอเรอ
ระวังพูดอย่าให้เพ้อถึงความใน
แม้นใครไม่ระวังตั้งเป็นหลัก     
เดินก็มักพลาดพื้นลื่นไถล
พูดก็มักพร่ำเผลอเพ้อเจ้อไป
ระวังไว้เป็นทุนแม่คุณเอย ฯ

นายทัด เปรียญ แต่ง ร้องลำช้างประสานงา
 ที่มา:http://www1.mod.go.th/heritage/nation/misc/learning0.html