วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความก้าวหน้าในการพัฒนาเด็ก

     การสร้างคนไม่ใช่แต่การให้ความรู้แต่ฝ่ายเดียว ยังต้องศึกษาวิถีการดำเนินชีวิตประกอบเพื่อความเข้าใจในตัวด็ก และเมื่อศึกษาอย่างจริงจังพบว่าหลายฝ่ายให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในฐานะการเป็นผู้ที่สร้างคนแขนงหนึ่งจึงจำเป็นที่ต้องทราบ และนำไปใช้เพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้นของคนในอนาคต  
1. การพัฒนาเด็ก
     1.1 ในด้านสุขภาพของเด็ก ได้มีการพัฒนาเด็กดีขึ้นหลายด้านที่ค่อนข้างชัดเจน เช่น สภาวะทุพโภชนาการได้ทุเลาลง น้ำหนักเด็กแรกเกิดดีขึ้น การให้ภูมิคุ้นกันโรคด้วยการให้วัคซีนค่อนข้างประสบความสำเร็จ อัตราการตายของเด็กทารกลดลง เป็นต้น
     1.2 กลุ่มเด็กที่อยู่ในภาวะยากลำบาก เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ เด็กที่มีภาวะบกพร่องในรูปแบบและประเภทต่างๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น โดยได้เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะในแผนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการจัดบริการเชิงเศรษฐกิจ สังคม และพัฒนาแก่เด็กเหล่านี้ สำหรับบางกลุ่ม ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้น แม้ว่าจะไม่เพียงพอและยังไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากลก็ตาม บริการบางประเภทยังนับว่าค่อนข้างใหม่มาก ซึ่งจะต้องทำการพัฒนาต่อไปอีก
     1.3 เด็กมีส่วนร่วมโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และมีส่วนในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้นในการให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งแต่เดิมไม่มีโอกาส เช่น มีเด็กเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้แทนไทยอย่างเป็นทางการ ไปชี้แจงรายงานสิทธิเด็กที่องค์การสหประชาชาติ สามารถให้ข้อคิดเห็นในเวทีเด็ก และสมัชชาแห่งชาติของเด็ก ร่วมประชุมระดับชาติและนานาชาติในเรื่องต่างๆ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนระดับชาติในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กเองและมีรายงานสิทธิเด็ก (ฉบับเด็ก) สำหรับสหประชาชาติด้วย เป็นต้น
     1.4 เด็กหรือผู้แทนเด็ก สามารถร้องเรียนขอความเป็นธรรมในเรื่องสิทธิของตน ไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของรัฐสภา ฯลฯ
     1.5 มีการเปลี่ยนแปลงเจตคติระดับหนึ่งสำหรับผู้ทำงานด้านเด็ก ที่ไม่ประณามหรือทำโทษเด็ก หรือกล่าวหาว่าเด็กเป็นผู้กระทำผิดในกรณีที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำ แต่มองว่าเด็กเป็นเหยื่อ หรือเป็นผู้เสียหาย หรือเป็นผู้ที่สมควรได้รับการคุ้มครองและดำเนินการช่วยเหลือเด็กด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น
     1.6 เรื่องสิทธิเด็ก สิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน ได้รับความสนใจมากขึ้น มีอาสาสมัครพิทักษ์สิทธิเด็ก มีการใช้ความรู้และการฝึกอบรมอาสาสมัคร และตัวเด็กเองในชุมชนต่างๆ มีการจัดทำคู่มือและการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ให้เป็นฉบับสำหรับเด็กเพื่อให้เข้าใจง่าย รวมทั้งการแปลเป็นภาษาท้องถิ่นต่างๆ และอักษรเบรล นอกจากนั้นประชาชนมีความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็กดีขึ้น โดยผ่านสื่อมวลชนในรูปแบบต่างๆ มีการรายงานเรื่องสิทธิเด็กให้องค์การสหประชาชาติ และประเด็นที่ยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเด็กได้นำมาพิจารณาในเวทีต่างๆ โดยให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น
2. บทบาทสถาบันสังคมในการพัฒนาเด็ก
     2.1 พ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะในเมืองและระดับชนชั้นกลางได้ให้ความสนใจมากขึ้นในเรื่องการเลี้ยงดูถูกให้ถูกวิธีและได้ผลดี จะเห็นได้จากการรวมกลุ่มเครือข่ายพ่อแม่ ตามความสนใจเข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการและการปฏิบัติการที่จัดโดยโรงพยาบาล สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคธุรกิจเอกชน และความสนใจเนื้อหาสาระที่เสนอโดยสื่อหลากหลายที่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เป็นต้น
     2.2 สถาบันการศึกษา ได้มีการปรับบทบาทให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งได้ให้ความหมายของ “การศึกษา” ไว้อย่างกว้างขวาง และได้ให้สิทธิเสมอภาคแก่บุคคลที่จะได้รับการศึกษาพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้ทั่วถึงโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
     2.3 ประชาชนและเครือข่ายประชาสังคมสนใจและห่วงใยเด็กมากขึ้น และได้มีการชูประเด็นด้านเด็กมากขึ้น มีมูลนิธิและสมาคมต่างๆ ทำงานด้านเด็กมากขึ้น
     2.4 สื่อมวลชนและผู้ผลิตสื่อให้ความสนใจด้านเด็กมากขึ้น สื่อมวลชนนำเสนอมากขึ้นเรื่องเด็กหรือเรื่องครอบครัว หรือรายงานเรื่องเกี่ยวกับเด็กผ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร หนังสือฉบับพกพาหรือฉบับกระเป๋า รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ รวมทั้งการใช้เว็บไซต์และอินเตอร์เน็ต ส่วนผู้ผลิตสื่อสำหรับเด็กได้ผลิตสื่อหลากหลายขึ้น เช่นหนังสือสำหรับเด็ก ของเล่นในบ้าน เครื่องเล่นนอกบ้าน เกมเด็ก เพลงสำหรับเด็ก ฯลฯ รัฐเองก็มีนโยบายเพิ่มเวลาในโทรทัศน์ที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กมากขึ้นด้วย
     2.5 สถาบันศาสนาและกลุ่มปฏิบัติธรรมต่างๆ ได้ช่วยพัฒนาด้านจิตวิญญาณ โดยการฝึกปฏิบัติธรรมและจัดกิจกรรมสำหรับเด็กที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตตามหลักธรรมของศาสนามากขึ้น รวมทั้งนักวิชาการแขนงต่างๆ ได้ประยุกต์ความรู้ทางธรรมะเพื่อการพัฒนาทางกาย / ใจ และจิตวิญญาณสำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ เพื่อเป็นพื้นฐานจริยธรรมทางวิชาชีพที่สำคัญอย่างยิ่ง เป็นต้น
     2.6 หน่วยงานราชการหลายหน่วยงานให้ความสนใจเรื่องเด็กมากขึ้น ร่วมกันทำงานสื่อสารและประสานงานกันมากขึ้นระหว่างองค์กรภาคเอกชนและภาครัฐ ทำให้เด็กได้รับการพัฒนารอบด้านดีขึ้น
3. กลไกและแผน
     3.1 มีการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง มีแผนเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมีมากขึ้น อาทิ แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับต่างๆ นโยบายและแผนงานในการพัฒนาสถาบันครอบครัว นโยบายและแผนระดับชาติเรื่องการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการค้าเด็ก และหญิงภายในและข้ามชาติ แผนพิทักษ์คุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว แผนฉบับที่ 9 กระทรวงสาธารณสุขตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 9 นโยบายยุทธศาสตร์และแผนด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 9 เป็นต้น
     3.2 รัฐบาลให้ความสนใจมากขึ้นกับปัญหาที่กระทบกับเด็ก และปัญหาของเด็ก แม้ว่ายังมีอุปสรรคในการดำเนินการบ้างก็ตาม อาทิ นโยบายขจัดความยากจน นโยบายการให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสบางกลุ่ม นโยบายขจัดยาเสพติด นโยบายพัฒนาครอบครัว นโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก ฯลฯ
     3.3 มีการปรับปรุงแก้ไขและออกกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเด็กมากขึ้น รวมทั้งการภาคยานุวัติ อนุสัญญา พิธีสาร และข้อตกลงต่างๆ ในระดับทวิภาคี และพหุภาคี
     3.4 ได้มีการปรับปรุงสภาพการช่วยเหลือหรือเยียวยา หรือปฏิบัติต่อเด็กในกระบวนการยุติธรรม เช่น ให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นและเหมาะสมมากกว่าการกักขัง การประชุมกลุ่มครอบครัว และการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบำบัดฟื้นฟูเด็ก การให้เด็กให้ได้ทำประโยชน์ต่อชุมชน การสืบพยานเด็กที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของเด็กเป็นสำคัญ ฯลฯ
     3.5 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบและปรับปรุงแก้ไขงานพัฒนาเด็กให้ดีขึ้นในท้องถิ่น และพื้นที่ของตน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นเพื่อเด็กจะได้ส่งผลให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อตัวเด็กมากขึ้น
     3.6 มีความช่วยเหลือทั้งทางด้านการเงิน วิชาการ และบุคลากรจากองค์กรต่างประเทศ ละชุมชนนานาชาติ เพื่อ สนับสนุนการพัฒนาเด็ก รวมทั้งการให้ความร่วมมือจากในประเทศ และต่างประเทศ และมีการตกลงระดับทวิภาคี และพหุภาคีกับต่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเด็ก
4. องค์ความรู้และการสร้างทักษะ
     4.1 มีความพยายามในการเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อสนเทศเกี่ยวกับเด็กมากขึ้น รวมทั้งการจัดทำตัวบ่งชี้ต่างๆ ด้านเด็กซึ่งจะได้พัฒนาให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และมีการใช้ประโยชน์มากขึ้น
     4.2 มีการฝึกอบรมบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กมากขึ้น ทั้งบุคลากร ภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ครู ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา บุคลากรที่เกี่ยวกับกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก ฯลฯ
     4.3 มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กเพิ่มขึ้น ได้มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับเด็กโดยตรงและโดยอ้อมเพิ่มขึ้น เพื่อให้เข้าใจสภาพเด็กไทยดีขึ้นแม้ว่าจะยังไม่พอเพียง และยังมีปัญหาด้านคุณภาพอยู่บ้างก็ตาม

ที่มา : นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ ด้านการพัฒนาเด็ก ตามแนวทาง “โลกที่เหมาะสมกับเด็ก” (พ.ศ.2550 – 2559) โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ จัดทำนโยบายแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลักตามแนวทาง “โลกที่เหมาะสมกับเด็ก” องค์การสหประชาชาติ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการแสงพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น