วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความรู้พื้นฐาน

     การเรียนภาษาไทยในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔-๖ นักเรียนต้องมีพื้นฐานของภาษาไทยจึงให้นักเรียนทำความเข้าใจและเรียนรู้ ดังนี้
เสียงในภาษาไทย มีอยู่ ๓ อย่าง คือ
๑. เสียงแท้ ได้แก่ สระ
๒. เสียงแปร ได้แก่ พยัญชนะ
๓. เสียงดนตรี ได้แก่ วรรณยุกต์

รูปสระ คือ ส่วนประกอบของเครื่องหมายที่ใช้เขียนแทนเสียงสระ มีทั้งหมด ๒๑ รูป ซึ่งมีชื่อ วิธีการเขียนและวิธีใช้ดังนี้
๑. ะ (วิสรรชนีย์) ใช้เป็นสระอะเมื่ออยู่หลังพยัญชนะ เช่น ปะ กะ และใช้ประสมกับสระรูปอื่น ให้เป็นสระอื่น เช่น เตะ แตะ โต๊ะ เอียะ อัวะ
๒. -ั (ไม้ผัด, ไม้หันอากาศ) ใช้เขียนบนพยัญชนะแทนเสียงสระอะเมื่อมีตัวสะกด เช่น มัด และประสมกับสระรูปอื่น เช่น ตัว ผัวะ
๓. -็ (ไม้ไต่คู้) ใช้ เขียนไว้บนพยัญชนะที่ประสมกับรัสสระที่มีวิสรรชนีย์ เพื่อแทนวิสรรชนีย์เมื่อมีตัวสะกด เช่น เจ็ด (เจะ+ด) และใช้แทนสระเอาะที่มีวรรณยุกต์โท ที่มีคำเดียวคือคำว่า ก็ (เก้าะ)
๔. า (ลากข้าง) ใช้เป็นสระอา สำหรับเขียนหลังพยัญชนะและใช้ประสมกับรูปสระรูปอื่นเป็นสระ เอาะ อำ เอา เช่น เกาะ ลำเพา
๕. -ิ (พินทุ์อิ) ใช้เป็นสระอิ สำหรับเขียนไว้บนพยัญชนะ เช่น ซิ ผลิ และใช้ประสมกับสระรูปอื่นให้เป็นสระ อี อือ เอียะ เอีย เอือะ เอือ เช่น ผี คือ เกี๊ยะ เสีย เสือ
๖. -่ (ฝนทอง) ใช้เขียนไว้ข้างบนพินทุ์อิ ทำให้เป็นสระอี เช่น ผี มี ปี
๗. " (ฟันหนู) ใช้เขียนไว้ข้างบนพินทุ์อิเป็นสระอือ เอือะ เอือ เช่น มือ เสือ
๘. -ํ (หยาดน้ำค้าง, นฤคหิต) ใช้เขียนไว้ข้างบนลากข้าง ทำให้เป็นสระอำ ( ำ) และเขียนบนพินทุ์อิเป็นสระอึ เช่น จำนำ ปรึกษา ศึกษา
๙. -ุ (ตีนเหยียด) ใช้เป็นสระอุ เขียนไว้ข้างล่างตรงเส้นหลังของพยัญชนะ เช่น ดุ
๑๐. -ู (ตีนคู้) ใช้เป็นสระอู เขียนไว้ข้างล่างตรงเส้นหลังของพยัญชนะต้น เช่น ปู งู ดู
๑๑. เ- (ไม้หน้า) ใช้เป็นสระเอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น เกเร ถ้าใช้สองรูปด้วยกันจะเป็นสระแอ และใช้ประสมกับสระรูปอื่นให้เป็นสระอื่น เช่น เอือ เอา เออะ เอียะ เอีย เอาะ แอะ
๑๒. ใ- (ไม้ม้วน) ใช้เป็นสระใอ สำหรับเขียนไว้หน้าพยัญชนะ เช่น ใคร ใต้ ฯลฯ
๑๓. ไ- (ไม้มลาย) ใช้เป็นสระไอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น ไฟไหม้ ฯลฯ
๑๔. โ- (ไม้โอ) ใช้เป็นสระโอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น โมโห ใช้ประสมกับวิสรรชนีย์ทำให้เป็นสระ โอะ เช่น โละ โปะ
๑๕. ฤ (ตัวรึ)ใช้ เป็นสระ ฤ จะใช้โดดๆ เช่น ฤดี หรือจะใช้ประสมกับพยัญชนะ (ต้องเขียนไว้หลังพยัญชนะ) และออกเสียงสระได้หลายเสียง ออกเสียงเป็น ริ เช่น กฤษณา ออกเสียงเป็น รึ เช่น ฤดู ฤทัย พฤกษ์ ออกเสียงเป็น เรอ เช่น ฤกษ์
๑๖. ฤๅ (ตัวรือ) ใช้เป็นสระ ฤๅ ใช้โดดๆ เช่น ฤๅไม่ หรือใช้เป็นพยางค์หน้าของคำ เช่น ฤๅดี
๑๗. ฦ (ตัวลึ) ใช้เป็นสระ ฦ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
๑๘. ฦๅ (ตัวลือ) ใช้เป็นสระ ฦๅ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
๑๙. ย (ตัวยอ) ใช้ประสมกับสูปสระรูปอื่น ทำให้เป็นสระอื่น เช่น สระเอีย เอียะ
๒๐. ว (ตัววอ) ใช้ประสมกับสระรูปอื่น เป็นสระ อัวะ อัว
๒๑. อ (ตัวออ) ใช้เขียนหลังพยัญชนะเป็นสระ ออ และประสมกับรูปสระรูปอื่น เป็นสระ อือ เออะ เอือะ เอือ
รูปพยัญชนะ มี ๔๔ ตัว คือ
๑. อักษรสูง มี ๑๑ ตัว คือ ข ข ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
๒. อักษรกลาง มี ๙ ตัว ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
๓. อักษรต่ำ มี ๒๔ ตัว คือ
๓.๑ อักษรคู่ คืออักษรต่ำที่เป็นคู่กับอักษรสูง มี ๑๔ ตัว คือ ค ค ฆ ช ฌ ซ ฑ ฒ ท ธ พ ภ ฟ ฮ
๓.๒ อักษรเดี่ยว คืออักษรต่ำที่ไม่มีอักษรสูงเป็นคู่กัน มี ๑๐ ตัว คือ ง ญ ณ น ม ย ร ล ว ฬ

วรรณยุกต์ มี ๔ รูป ได้แก่
๑. ไม้เอก
๒. ไม้โท
๓. ไม้ตรี
๔. ไม้จัตวา

เสียงวรรณยุกต์ที่ใช้อยู่ในภาษาไทย มี ๕ เสียง
๑. เสียงสามัญ คือเสียงกลาง ๆ เช่น กา มา ทา เป็น ชน
๒. เสียงเอก ก่า ข่า ป่า ดึก จมูก ตก หมด
๓. เสียงโท เช่น ก้า ค่า ลาก พราก กลิ้ง สร้าง
๔. เสียงตรี เช่น ก๊า ค้า ม้า ช้าง โน้ต มด
๕. เสียงจัตวา เช่น ก๋า ขา หมา หลิว สวย หาม ปิ๋ว จิ๋ว


อ้างอิง
กำชัย ทองหล่อ. (2533). หลักภาษาไทย. กรุงเทพฯ : บำรุงสาส์น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น