วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ภูมิปัญญาของชนชาติไทย

      ชนชาติไทยมีความภูมิใจอย่างมากคือภาษาเพราะภาษาไทยเป็นสิ่งเดียวที่บ่งบอกความเป็นไทยที่ชัดเจนที่สุด ภาษาอยู่คู่กับชนชาติไทยมานานและพัฒนาตามภูมิปัญญาของชาวไทยผ่านยุคสมัยจนถึงปัจจุบันซึ่งภูมิปัญญาก็หมายถึง พื้นความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความสามารถ ความจัดเจน และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คนเราสั่งสมและสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตหรือจะกล่าวว่า ภูมิปัญญา คือ รากเหง้าของความคิดที่ทรงคุณค่าของบรรพบุรุษ นั่นเอง

      ภูมิปัญญาทางภาษาไทย จึงหมายถึงความรู้ ความสามารถ ความชาญฉลาดในการแก้ปัญหา หรือสร้างสรรค์ผลงานทางด้านภาษาไทย ภูมิปัญญาทางภาษาไทยที่เด่น ๆ มีทั้งหมด ๘ ข้อ ได้แก่


๑. เชาน์ปัญญาไหวพริบในการสร้างคำ

เมื่อไทยเราเริ่มคิดค้นอักษรไทยขึ้น เราได้สร้างคำขึ้นใช้โดยเลียนเสียงธรรมชาติบ้าง ขอยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้บ้าง คิดคำขึ้นมาเองเพื่อใช้เรียกชื่อให้ ตรงกันบ้าง คำที่คิดขึ้นในสมัยแรก ๆ เป็นคำเดียวโดด เช่น โค ฝน วิว หมอน พร้า ดาบ ฝุ่น กิน ข้าว ดู งาม ฯลฯ ต่อมาเราเห็นว่าคำที่คิดขึ้นไม่พอใช้ จึงได้สร้างคำขึ้นใหม่โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น

นำคำไทยมาเรียงต่อกันเป็นคำประสม เช่น น้ำใจ ชาวสวน นักเรียน
นำคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาซ้อนกันเป็นคำซ้อนเพื่อความหมาย เช่น รักใคร่ บ้านเรือน ดูแล โกรธเคือง
นำคำที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาซ้อนกันเป็น คำซ้อนเพื่อเสียง เช่น งุนงง โยเย จวนเจียน เกะกะ ฯลฯ
นำคำเดียวกันมาใช้สองครั้ง กลายเป็นคำซ้ำ เช่น แดง ๆ เขียว ๆ เหลือง ๆ

๒. ความร่ำรวยและความหลากหลายในถ้อยคำ

คนไทยยังเกิดแนวคิดใหม่ นำคำที่คิดขึ้นมากมายนั้นมาจับกลุ่มใหม่ สำหรับคำที่ออกเสียงเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน ก็เรียกชื่อว่า คำพ้องเสียง  เช่น

กาน การ กาล กาฬ การณ์ กานท์
สัน สรร สรรค์ สรรพ์ สันท์ สันต์
(ทุกคำที่ยกตัวอย่างมา จะมีความหมายทั้งนั้น)

ส่วนคำที่เขียนเหมือนกัน แต่อ่านต่างกัน เราเรียกชื่อว่า คำพ้องรูป เช่น

ครุ อ่านว่า ครุ (ค ควบกล้ำกับ ร) หรือ คะ – รุ
กรี อ่านว่า กรี (ก ควบกล้ำกับ ร) หรือ กะ - รี

คำอีกกลุ่มหนึ่งมีความหมายเหมือนกัน แต่เขียนต่างกัน เราเรียกว่า คำพ้องความหมาย เช่น

คำที่แปลว่า งาม ได้แก่ โศภา โศภิต โศภิน โสภา โสภี ตรู ประไพ สุนทร เฉิดฉัน ไฉไล ประอร เพริศ เพาพะงา เพรา อะเคื้อ จรูญ ลออ

คำที่แปลว่า พระอาทิตย์ ได้แก่ สุริยะ สุริยา สุริยัน สุริยน สุริโย อาภากร ทินกร ทิพากร ทิวากร ภาณุ ภาสกร รพี รำไพ รวิ รวี รังสิมา สหัสรังสี


๓. ภาษาไทยเป็นภาษามีวรรณยุกต์

นับเป็นเอกลักษณ์ของภาษาไทยอย่างหนึ่งที่เรามีวรรณยุกต์ใช้ เพราะการใส่วรรณยุกต์ในคำใด ๆ จะทำให้คำนั้นเกิดความหมายใหม่ และเรามีคำใหม่ขึ้นใช้เพิ่มขึ้น เช่น เสือ เสื่อ เสื้อ , ไก ไก่ ไก้ ไก๊ ไก๋ , ฟาง ฟ่าง ฟ้าง เป็นต้น

๔. ภาษาไทยนิยมใช้คำสัมผัสคล้องจอง

คนไทยเป็นคน เจ้าสำบัดสำนวน เราจึงคิดค้นคำสัมผัสขึ้นมาใช้ ทั้ง สัมผัสสระ และ สัมผัสอักษร (สัมผัสพยัญชนะ) โดยใช้กับเพลงในการละเล่นของเด็กไทย ปริศนาคำทาย สำนวนไทย คำพังเพย สุภาษิต บทร้อยกรอง บทเพลง ทั้ง สัมผัสสระ และสัมผัสอักษร (สัมผัสพยัญชนะ)

สัมผัสสระ คือ คำที่ใช้สระตัวเดียวกัน ถ้ามีตัวสะกดต้องใช้ตัวสะกดตัวเดียวกันด้วย เช่น มอง ปอง รอง


สัมผัสอักษร คือคำที่ใช้อักษรตัวเดียวกัน ถ้ามีตัวสะกด ใช้ตัวสะกดต่างกันได้


ตัวอย่างการใช้สัมผัสสระ

การละเล่น จ้ำจี้มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น พายเรือกแอ่น...
ปริศนาคำทาย อะไรเอ่ย สี่ตีนเดินมา หลังคามุงกระเบื้อง
สำนวนไทย ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน
คำพังเพย คบคนให้ดูหน้า ซื้อผ้าให้ดูเนื้อ
สุภาษิต ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศลอย่ารู้โรย
บทร้อยกรอง
จำขึ้นใจในวิชาดีกว่าจด จำไม่หมดจดไว้ดูเป็นครูสอน
จดและจำทำวิชาให้ถาวร เป็นอาภรณ์เกียรติคุณนุกูลกาล
( กลอนสุภาพหรือกลอนแปด

บทเพลง โอ้ละหนอดวงเดือนเอย พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย


๕. ภาษาไทยใช้ลักษณนาม

ลักษณนามในภาษาไทยถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ที่ภาษาอื่นไม่มีใช้ จึงนับว่าเป็นความช่างคิดของคนไทยที่ใช้คำลักษณนามที่สามารถบอกลักษณะของ สิ่งของนั้น ๆ ได้ เช่น

ข่าว ใช้ลักษณนามว่า กระแส

ยา ใช้ลักษณนามว่า ขนาน
กาพย์ กลอน คำประพันธ์ คาถา บทความ ใช้ลักษณนามว่า บท
พร ภัย เหตุผล ใช้ลักษณนามว่า ประการ
ปี่ ขลุ่ย ใช้ลักษณนามว่า เลา
ทัพ ทหาร ใช้ลักษณนามว่า กอง
จาก พลุ ปลาย่าง ลูกปืน ใช้ลักษรนามว่า ตับ
เชือก ลวด สายไฟฟ้า ใช้ลักษณนามว่า ขด

๖. ภาษาไทยเป็นภาษามีระดับ

คนไทยมีนิสัยประจำชาติที่แตกต่างจากชาติอื่น คือ การมีสัมมาคารวะ ยกย่องให้เกียรติ อ่อนน้อมถ่อมตน ด้วยเหตุนี้การใช้ภาษาจึงมีความแตกต่างกันในแต่ละระดับของชนชั้น เช่น

พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ใช้ว่า เสวย

พระภิกษุ ใช้ว่า ฉัน
บุคคลระดับสูง ผู้มีการศึกษา ใช้ว่า รับประทาน
บุคคลระดับกลาง บุคคลทั่วไป ใช้ว่า กิน
บุคคลระดับต่ำ ชนชั้นกรรมกร ใช้ว่า ยัด แดก ฯลฯ

ในการนำภาษาไปใช้แต่ละโอกาส หรือสถานการณ์จะแตกต่างกันไป เช่น

ภาษาพูดธรรมดา ใช้คำว่า บอก เล่า
ภาษาพูดที่สุภาพ ใช้คำว่า แจ้ง กล่าว
ภาษาเขียน ใช้คำว่า เรียน ชี้แจง แสดง

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นแสดงนี้ แสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางภาษาของคนไทยในการคิดค้นถ้อยคำขึ้นใช้ให้มีความแตก ต่างกันตามบริบทของการใช้คำ และตามความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย


๗. ภาษาไทยมีการผวนคำ

การผวนคำ เป็นการนำคำมาสับที่ สับเสียง เพื่อให้เกิดความหมายใหม่ หรืออาจไม่มีความหมายเลย แต่แสดงถึงความมีอารมณ์ขัน และความสนุกของคนไทย.ในการสร้างสรรค์คำใหม่เท่านั้น คำผวนบางคำเมื่อสับที่ สับเสียงแล้ว อาจมีความหมายไปในทางที่หยาบโลน หรือส่อเจตนาในทางเพศ แต่ถือว่าเป็นการเล่นคำเพื่อความสนุกสนานในหมู่คนใกล้ชิด คำผวนนี้ไม่ควรนำมาใช้ในที่สาธารณชน เช่น บันได ผวนว่า ไบดัน ตีนแตก ผวนว่า แดกตีน
หมีมา ผวนว่า หมามีสวัสดี ผวนว่า สวีดัด ฯลฯ

๘. ภูมิปัญญาไทยในบทประพันธ์

คนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน ชอบเรียงร้อยถ้อยคำให้เกิดเสียงไพเราะ เป็นคำประพันธ์ประเภทร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาไทยอันยอดเยี่ยมในการใช้ถ้อยคำ เช่น คำประพันธ์ต่อไปนี้

“บ้านสร้างน้ำทุ่งสว่างขึ้นอีกครั้งเมื่อเกือบจะใกล้ยามสี่ พระจันทร์ครึ่งดวงหลังฝนเหือดมีสีแดงปน จึงเจือแสงเข้มขึ้นกว่าธรรมดา หยาดน้ำค้างซึ่งค้างบนปลายไม้และหญ้าวาววับจับนัยน์ตา เป็นประกายดูประหนึ่งท้องทุ่งดาษด้วยเพชร...”
(ยาขอบ)

เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า

มิหวังกระทั่งฟากฟ้า ซบหน้าติดดินกินทราย
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ชาติมาตรมตาย อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ
(อังคาร กัลยาณพงศ์)


เอกสารอ้างอิง
แก้วกานต์ ภูมิศรีแก้ว ๒๕๔๕ ภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๑ กรุงเทพฯ ประสานมิตร
ประพนธ์ เรืองณรงค์ และ เสาวลักษณ์ อนันตศานต์ ๒๕๔๕ ภูมิปัญญาทางภาษา กรุงเทพฯ ไทยวัฒนาพานิช
สวนิต ยมาภัย “คนกับภาษา” สารสถาบันภาษาไทย ๒ (เมษายน – มิถุนายน ๒๕๓๘) หน้า ๒๙
สุภัค มหาวรากร ๒๕๔๖ ภาษาไทยเพื่ออาชีพ ๑ กรุงเทพฯ
บริษัท เอมพันธ์ จำกัด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น