วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำบุพบท

คำบุพบท คือ คำที่ใช้นำหน้าคำหรือกลุ่มคำ คำนาม คำสรรพนาม คำวิเศษณ์ และคำกริยาบางคำ เพื่อบอกหน้าที่และความสัมพันธ์ของคำที่อยู่หลังบุพบทกับข้อความข้างหน้า
คำบุพบทแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

     ๑.บุพบทที่ไม่เชื่อมกับบทอื่น บุพบทชนิดนี้จะใช้อยู่หน้าคำหรือกลุ่มคำนามและสรรพนาม เพื่อแสดงการทักทาย หรือเป็นคำร้องเรียกเพื่อเกริ่นให้ผู้ฟังรู้สึกตัว คำบุพบทชนิดนี้มีใช้อยู่ในหนังสือรุ่นเก่า เช่น หนังสือเทศน์ หรือวรรณคดี เช่น เรื่องกามนิตก็มีใช้กันมาก แต่ปัจจุบันเกือบไม่มีใครใช้ ตัวอย่างเช่น
         - ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เชิญท่านตามความพอใจเถิด…
         - ดูก่อน อาคันตุกะ ท่านมาถือเพศเป็นผู้ละเคหสถานเพราะเหตุเป็นไฉน
     ๒.บุพบทที่เชื่อมกับบทอื่น ได้แก่ บุพบทที่นำหน้าคำหรือกลุ่มคำนาม สรรพนาม วิเศษณ์ และกริยาบางคำเพื่อบอกความสัมพันธ์ระหว่างคำที่อยู่หลังบุพบทกับความข้างหน้า คำบุพบทชนิดนี้แบ่งเป็นชนิดย่อยๆ ดังนี้
           ๒.๑ บุพบทนำหน้ากรรม ได้แก่คำ แก่ ซึ่ง เฉพาะ เช่น
                 - เสื้อตัวนี้ฉันถักให้เฉพาะเธอ
                 - คุณครูให้รางวัลแก่นักแสดงรุ่นเยาว์
                 - จงให้อภัยซึ่งกันและกัน
           ๒.๒ บุพบทนำหน้าบทเพื่อบอกความเป็นเจ้าของ ได้แก่ ของ แห่ง เช่น
                 - สมุดของฉันหาย
                 - พนักงานของบริษัทนี้ทำงานเข้มแข็ง
                 - สถาบันอุดมศึกษาแห่งชาติเป็นของรัฐบาล
           ๒.๓ บุพบทนำหน้าบทเพื่อแสดงความเป็นผู้รับ ได้แก่ แก่ แด่ ต่อ เพื่อ สำหรับ เช่น
                 - ที่นั่งสำหรับผู้สูบบุหรี่ไม่มีคนนั่งเลย
                 - เขาแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวในทำเนียบรัฐบาล
                 - เราทำดีเพื่อความก้าวหน้าของตัวเราเอง
           ๒.๔ บุพบทนำหน้าบทเพื่อบอกลักษณะ เป็นเครื่องใช้ หรือติดต่อกัน ได้แก่ ด้วย โดย ตาม เฉพาะ เช่น
                - เขากระโดดลงจากรถโดยเร็ว
                - เธอทำดอกไม้ด้วยผ้ากำมะหยี่
                - เขาได้ดีเพราะเธอ
           ๒.๕ บุพบทนำหน้าบทเพื่อบอกเวลา ได้แก่ กระทั่ง จน จนกระทั่ง เมื่อภายใน ใน ณ แต่ ตั้งแต่ ฯลฯ เช่น
               - เขาทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ
               - คุณครูให้ส่งการบ้านภายในวันนี้
               - ฝนตกหนักมากเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว
           ๒.๖ บุพบทนำหน้าบทเพื่อบอกสถานที่ ได้แก่ ที่ ใต้ บน เหนือ ใกล้ ไกล ริม ข้าง ฯลฯ เช่น
               - คุณพ่อรับราชการที่จังหวัดตรัง
               - เธอชอบนั่งริมหน้าต่าง
               - เครื่องบินบินอยู่เหนือน่านฟ้าไทย
           ๒.๗ บุพบทนำหน้าบทเพื่อบอกประมาณ ได้แก่ เกือบ ตลอด ราว สัก ชั่ว เช่น
               - งานนี้เขาทำชั่วปิดภาคเรียนเท่านั้น
               - เธอทำงานวันละเกือบ 12 ชั่วโมง
               - คุณพ่อเพิ่งออกจากบ้านไปราวครึ่งชั่วโมงนี้เอง
               - ใครสักคนมาช่วยครูลบกระดานหน่อย
ข้อสังเกต
     ๑. คำบุพบทต่างจากคำวิเศษณ์ตรงที่คำบุพบทสามารถอยู่ท้ายข้อความหรือท้ายประโยคได้ แต่บุพบทต้องอยู่หน้าคำหรือกลุ่มคำ เช่น
              - บ้านของเขาอยู่ใกล้มาก (วิเศษณ์ ขยาย อยู่)
    ๒.คำบุพบทที่นำหน้าคำกริยา มักเป็นกริยาสภาวมาลา คือกริยาที่ละ “การ” ไว้ เช่น
              - เขามีชีวิตเพื่อทำงาน (การทำงาน)
              - จงกินเพื่ออยู่ แต่อย่าอยู่เพื่อกิน (การอยู่ – การกิน)
   ๓.ส่วนที่อยู่หลังบุพบทต้องเป็นคำหรือกลุ่มคำเท่านั้น จะเป็นประโยคไม่ได้
หน้าที่ของคำบุพบท
     คำบุพบทมีหน้าที่นำหน้าคำหรือกลุ่มคำต่อไปนี
     ๑.นำหน้าคำหรือกลุ่มคำนาม เช่น
         - แม่ถนอมได้รับจดหมายจากนายเสริมพี่ชาย
         - อ้ายเสริม เอ็งกะข้ามาสู้กันด้วยเกียรติยศของผู้ชาย
         - จงทำดีเพื่อความดี
     ๒.นำหน้าคำหรือกลุ่มคำสรรพนาม เช่น
         - ขอพรนี้จงสัมฤทธิ์ผลแด่ท่านผู้เจริญ
         - ฉันต้องมาที่นี่ทุกวันเสาร์
         - เขาแต่งกลอนบทนี้มอบให้แก่เธอ
     ๓.นำหน้าคำหรือกลุ่มคำวิเศษณ์ เช่น
         - การสื่อสารสมัยนี้ทำได้โดยสะดวกรวดเร็ว
         - เธอต้องให้การต่อศาลไปตามจริง
     ๔.นำหน้าคำกริยาสภาวมาลา เช่น
         - เขาวิ่งเพื่ออกกำลังกาย (ละ “การ” หน้ากริยา)
         - เขาเป็นมะเร็งเพราะสูบบุหรี่จัด (ละ “การ” หน้ากริยา สูบบุหรี่)
ข้อสังเกต
     ๑.การพิจารณาคำบุพบทต้องดูหน้าที่ของคำเป็นหลัก เพราะคำต่างชนิดกันจะทำหน้าที่ต่างกันและมีความหมายต่างกัน เช่น
        - เขาเป็นคนแก่ (วิเศษณ์)
        - เขาให้เงินแก่คนขอทาน (บุพบท)
        - คุณลุงแก่มากแล้ว (กริยา)
        - เขาให้ความเป็นกันเองแก่แขกผู้มาเยี่ยมเยียน (สันธาน)
     ๒.คำ “ที่” จะเป็นคำบุพบทเมื่อนำหน้าคำนามหรือสรรพนาม แต่ถ้าทำหน้าที่แทนนามข้างหน้าจะเป็นคำสรรพนามเชื่อมประโยค ซึ่งจะทำหน้าที่เหมือนคำสันธาน เช่น
        - แม่ไปซื้อของที่ตลาด (บุพบท)
        - แมวที่โรงเรียนชื่อเจ้าน้ำหวาน (บุพบท)
        - คนที่ซื้อขนมหน้าโรงเรียนต้องถูกลงโทษ (สันธาน)
        - ฉันให้เสื้อผ้าแก่นักเรียนที่บ้านถูกไฟไหม้ (สันธาน)
ที่มา : http://www.tlcthai.com/education/knowledge-online/15343.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น